คาร์บอนเครดิต เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม

คาร์บอนเครดิต เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม ข่าวกรุงเทพธุรกิจ

'คาร์บอนเครดิต' เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน "คาร์บอนเครดิต" ได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น จากการตื่นตัวในการสร้างสมดุลให้ชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกเกินกำหนด

ในปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environmental, Social, and Governance หรือ ESG เป็นอย่างมาก โดยด้านสิ่งแวดล้อม หลายประเทศได้ผลักดันนโยบายหรือกฎหมายที่จะลดหรือจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) หรือแม้แต่การลดขยะขององค์กร

ในด้านผู้ลงทุนให้ความสำคัญการลงทุนที่เกี่ยวกับ ESG เพิ่มขึ้น เห็นได้จากมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 15 ล้านล้านดอลลาร์ ประเด็นที่ ESG ได้รับความสนใจอย่างมาก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีนโยบายด้าน ESG บริษัทที่ลงทุนใน Renewable Energy หรือลงทุนพันธบัตร Green Bond นอกจากนี้ Weather Derivatives (อนุพันธ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น

การพัฒนาคาร์บอนเครดิต มีจุดเริ่มต้นจากการตื่นตัวในการสร้างสมดุลให้ชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ในปี 1997 ให้ประเทศพัฒนาแล้ว 37 ประเทศ (Annex 1) จะต้องลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกลง โดยจะมีการออกกฎหมายกำหนดระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกเกินระดับที่กำหนด ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ร่วมลงนามรวมถึงประเทศไทยจะต้องใช้ความพยายามในการลดก๊าชเรือนกระจก

ต่อมาในการประชุมที่กรุงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 นานาชาติได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มก่อนยุคก่อนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียล และยังกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหลักการนี้ เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัท จนเกิดเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก

การเปิดให้มีการซื้อขายหรือมีตลาดคาร์บอนเครดิตช่วยทำให้ต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของอุตสาหกรรมลดลง เพราะโรงงานแต่ละแห่งมีต้นทุนในการลดก๊าชเรือนกระจกไม่เท่ากัน แทนที่จะให้โรงงานทุกแห่งลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็ให้โรงงานที่มีต้นทุนต่ำทำหน้าที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในปริมาณสูง และนำคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นไปขายให้กับโรงงานที่มีต้นทุนสูง ทำให้ปริมาณก๊าชเรือนกระจกในภาพรวมลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลง

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การซื้อขายแบบที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย (Mandatory Basis) ซึ่งมักจะเกิดในประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารโตเกียว เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยประเทศเหล่านี้จะมีข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมักจะมีการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไป เพื่อทำให้โดยรวมแล้วระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้

ปัจจุบันมีตลาดกลางหรือตลาดอนุพันธ์หลายแห่งที่เปิดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เช่น ตลาดอนุพันธ์ ICE (International Continental Exchange), ตลาด Nasdaq และตลาด EEX (European Energy Exchange) สำหรับซื้อขายอีกลักษณะหนึ่งอยู่ในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) คือ ไม่ได้จัดขึ้นภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย แต่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดทำมาตรฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เชิญชวนให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกเข้ามาขึ้นทะเบียน รวมทั้งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง

นอกจากนี้ องค์กรและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กลุ่ม ปตท. ฯลฯ เล็งเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและให้ความสนใจกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น โดยมีการนำโรงงานที่ใช้พลังงานสีเขียวไปขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานคาร์บอนเครดิต และมีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตของตนเอง แต่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังเป็นการซื้อขายโดยสมัครใจ การซื้อขายจึงจำกัดอยู่ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ (B2B)

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่นาย Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศจุดยืนทางสิ่งแวดล้อมว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ยุคไร้มลพิษภายในปี 2050 รวมถึงมีการสนับสนุนเงินทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในโครงการพลังงานสะอาด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมธุรกรรมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยังต้องการการสนับสนุนด้านนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดกลางเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต

ข่าวประกาศ
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921002

 

 

Message us